วันอังคารที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

นกกวัก Amaurornis phoenicurus

นกกวักเป็นนกในวงศ์นกอัญชันที่พบได้ง่ายที่สุดในประเทศไทย ปรับตัวให้อาศัยอยู่ในถิ่นอาศัยหลากหลายกว่าชนิดอื่นๆ ซึ่งส่วนใหญ่พบหากินตามแหล่งน้ำ เราสามารถพบมันได้ตามสวนสาธารณะและรอบๆ บ้าน ขอเพียงมีที่รกๆ และแหล่งน้ำเล็กๆ ให้มันพออาศัยได้บ้าง มันเป็นนกที่มีการกระจายพันธุ์กว้างในเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นอกจากนี้ยังพบว่ามีการขยายพันธุ์ไปตั้งรกรากในตอนเหนือของเอเชียตะวันออกและตามเกาะต่างๆ อย่างไรก็ตาม จำนวนของนกกวักก็ยังคงลดลงในพื้นที่ที่มีการล่า โดยเฉพาะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้



ชื่อท้องถิ่น:นกกวัก
ชื่อสามัญ:นกกวัก
ชื่อวิทยาศาสตร์:Amaurornis phoenicurus
ประเภทสัตว์:สัตว์ปีก
ลักษณะสัตว์:นกกวัก Amaurornis phoenicurus      ( White-breasted Waterhen)
     



     เป็นนกที่มีลักษณะเด่นเฉพาะ เมื่อได้พบเพียงครั้งเดียวก็จำได้ และไม่มีทางสับสนกับนกชนิดอื่น นกชนิดนี้มีบริเวณตั้งแต่หลังหน้าผาก ไล่ไปจนถึงหลัง ปีก และหางเป็นสีดำออกเทา อมแดงนิดๆ หน้าผาก หน้า คอ อก ท้อง เป็นสีขาวสะอาด ขนคลุมโคนหางเป็นสีน้ำตาลแกมแดง ตาสีแดง โคนปากมีสีแดงสด ปากตรงสีเหลืองอมเขียว ขาและเท้าสีเหลืองอมเขียว นิ้วยาวมาก มีความยาวจากปลายปากจรดปลายหางประมาณ 28.5-36 เซนติเมตร ทั้ง 2 เพศคล้ายคลึงกัน


   พื้นที่ที่สามารถพบนกกวักได้คือตามบริเวณท้องนา หนองบึง ทุ่งหญ้า กกธูปฤาษีข้างทางที่มีน้ำขัง แม่น้ำลำคลองที่มีกอหญ้า หรือที่ให้หลบซ่อนตัวได้ คนที่ขับรถไปตามเส้นทางที่มีลักษณะที่ว่าก็สามารถจะพบนกกวักเดินขึ้นมาจากข้างทางเพื่อข้ามถนนบ้าง เดินหากินบ้าง ซึ่งนกก็จะวิ่งหลบไปทันที นกชนิดนี้บินไม่ค่อยเก่ง จึงมักใช้วิธีวิ่งหนีไปซ่อนตัวในดงพืชรก ๆ
   อาหารของนกชนิดนี้  คือลูกกุ้ง ลูกปลา ลูกกบ เขียด หนอน แมลง ตัวอ่อนของแมลง ไส้เดือน และสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังที่อาศัยตามพื้นที่ชื้นแฉะ นกจะเดินหากินไป กระดกหางไปเรื่อยๆ ซึ่งเป็นลักษณะที่เหมือนนกอัญชันอื่นๆที่อยู่ในวงศ์เดียวกัน หากไม่ตื่นกลัว นกจะเดินหากินไปเรื่อย